สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ทำพินัยกรรมยกเงินในบัญชีเงินฝากที่มีชื่อผู้ตายเพื่อบุตรผู้เยาว์ ได้หรือไม่

 

 

 

ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18489/2556
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงิน 256,910.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 255,859.02 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะได้รับชำระเงินครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้รวมสั่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง โดยให้ชำระเงิน 256,910.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 255,859.02 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 เมษายน 2550) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่ความแถลงไม่สืบพยาน โดยยอมรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังว่า พลโทจรูญหรือจิรโชติ เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาประชาชื่น ระบุผู้ฝากคือ นายจิรโชติ เพื่อผู้เยาว์ ชื่อเด็กชายวรรณธร ตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 โดยสมุดบัญชีก็ใช้ชื่อบัญชีว่า นายจิรโชติ เพื่อเด็กชายวรรณธร หลังจากนั้นมีการนำเงินเข้าฝากและเบิกถอนเงินจากบัญชีหลายครั้ง ตามสำเนาสมุดคู่ฝากเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 เคยมาขอรับเงินจากพลโทจรูญหลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ต่อมาพลโทจรูญทำพินัยกรรมระบุว่า บัญชีธนาคารออมสิน สาขาประชาชื่น ซึ่งใส่ชื่อบุตรของพันตรีสุนทร ให้เด็กชายสมนึกทั้งหมด ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้อง พลโทจรูญถึงแก่ความตาย มีโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก ตามสำเนาคำสั่งศาลแพ่งเอกสารท้ายฟ้อง

 

 

มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า เงินฝากในบัญชีที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของพลโทจรูญหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่พลโทจรูญขอเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อบัญชีว่า นายจิรโชติ เพื่อเด็กชายวรรณธร เช่นเดียวกับในสมุดคู่ฝากเงิน แสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชีเงินฝาก เช่นนี้กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความต่อมามีการนำเงินเข้าฝากและมีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากหลายครั้ง การเบิกถอนเงินก็เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างธนาคารจำเลยที่ 1 กับพลโทจรูญว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจจัดการเองได้ตามเงื่อนไข หรือระเบียบ และวิธีการของธนาคารจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความตามคำให้การจำเลยที่ 2 ว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 ได้มาขอรับเงินจากพลโทจรูญหลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า การถอนเงินของพลโทจรูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และเงินในบัญชีเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อกรรมสิทธิ์ในเงินฝากตกเป็นของจำเลยที่ 2 ทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชี พลโทจรูญจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินในบัญชีเงินฝากที่พิพาทแก่ผู้ใด ดังนั้น ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกเงินฝากในบัญชีดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสำเนาบันทึกข้อความ ลงวันที่ 9 เมษายน 2537 เอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้องหมายเลข 3 จึงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์สินของพลโทจรูญอันจะกำหนดการเผื่อตายได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลล่างทั้งสองมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร

-การต่อเติมภายหลังปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำ

-คนต่างด้าวก็สามารถครอบครองปรปักษ์ได้

-ผู้รับการให้ด่าว่าผู้ให้ ผู้ให้สามารถเพิกถอนการให้ได้

-ยกที่ดินให้แล้ว แต่มีสิทธิเก็บกินโดยไม่ได้จดทะเบียนผลเป็นอย่างไร

-ด่าว่า จัญไร ถอนการให้ได้

-ฟ้องเรียกค่าขาดกำไร เป็นค่าเสียหายพฤติการณ์พิเศษ

-หนังสือทวงถามส่งไปที่บ้านตามภูมิลำเนาอ้างว่าไม่ได้รับได้หรือไม่

-การยินยอมของเด็กที่ให้ล่วงละเมิดทางเพศ ยังคงเป็นความผิดฐานละเมิด

-ดูหมิ่นเรียกค่าเสียหายได้เท่าไหร่

-ตั้งใจไปกู้แต่เจ้าหนี้ให้ทำสัญญาขายฝากผลเป็นอย่างไร

-คำมั่นจะให้เช่าเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว

-การโอนสิทธิการเช่าทำได้หรือไม่